มิตซูบิชิ อีเล็คทริค จับมือ 8 พันธมิตร ร่วมสร้าง Ecosystem ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ผ่านธีม Digitalizing and Decarbonizing
มิตซูบิชิ อีเล็คทริค จับมือ 8 พันธมิตร ร่วมสร้าง Ecosystem ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกไทย
ผ่านธีม Digitalizing and Decarbonizing
บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเร่งผลักดันการลดคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต พร้อมจับมือพันธมิตร ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ประกาศเจตนารมย์ ร่วมมือสร้าง Ecosystem ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ฝ่าผลกระทบจากมาตรการภาษีคาร์บอน ภายใต้แนวคิด “Drive SUSTAINABILITY in Manufacturing by DIGITALIZING AND DECARBONIZING for Plastic Industry” ในงาน พลาสติกแอนด์รับเบอร์ไทยแลนด์ 2023 (Plastic & Rubber Thailand 2023) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 10 – 13 พฤษภาคม 2566 ณ ไบเทค บางนา
โดยในโอกาสนี้ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ได้จัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในรูปแบบของการพูดคุย หรือ Panel Discussion ในหัวข้อ “Management Vision & Commitment in Collaboration to drive A Sustainability in Plastic Industry” ซึ่งในวงเสวนา ได้เชิญแขกผู้มีเกียรติจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารจากภาคเอกชน ผู้บริหารและผู้แทนจากสมาคมในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย มาร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการ DIGITALIZING AND DECARBONIZING ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ซึ่งจะนำสู่การสร้าง Ecosystem ตอบโจทย์ BCG Economy โมเดลเศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด
คุณวิเชียร งามสุขเกษมศรี
กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
“ในส่วนของ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น เราเป็นทั้งผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และยังอยู่ในส่วนของ Technology Provider ที่นำเสนอระบบแฟคทอรี่ ออโตเมชั่น ที่ทันสมัยให้กับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งที่ผ่านมา มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ มีปณิธานชัดเจนที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรมในการปรับระบบการผลิตให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ Factory 4.0 ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
“ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้ สอดรับกับนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการผลักดันและร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ระบบ 4.0 ด้วยทีมงานวิศวกรที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างดีจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อต้องการสนับสนุนและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้มีความทันสมัยเป็นระบบอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน รวมถึง ลดต้นทุนการผลิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มโอกาสและความสามารถทางการแข่งขันได้ในตลาดโลก ยกระดับเป็นโรงงานอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด e-F@ctory ซึ่ง SCADA GENESIS64™ คือถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือของมิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ ที่จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ก้าวข้ามกับดักภาษีคาร์บอนในอนาคต”
“แต่แน่นอนว่าการเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ในส่วนของ แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น และการเพิ่มเติมมาในส่วนของซอฟแวร์ ก็ยังไม่สามารถทำให้เราพาภาคอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายการ Digitalizing และ Decarbonization เพราะการขับเคลื่อนเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำให้เกิดภาคอุตสาหกรรมของไทยพัฒนาไปในแนวทางของการสร้างความยั่งยืนได้”
“ดังนั้น เราจึงต้องสร้าง Ecosystem สร้างพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีเทคโนโลยี มีแนวทางที่ไปในทางเดียวกันในการสร้างให้อุตสาหกรรมยั่งยืน ยกตัวอย่าง ในวันนี้ก็มีบูธต่างๆ ในส่วนของมิตซูบิชิ ที่ได้นำระบบบซอฟแวร์ SCADA GENESIS64™ ซึ่งเป็น Visualize พลังงาน และมีพันธมิตรที่มาทำ Visualize ค่าคาร์บอน และมีหน่วยงานที่ทำเรื่องเม็ดพลาสติก ที่จะมาแชร์ความรู้ว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างไรให้เป็น Bio-based และยังมีเคสลูกค้าต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พร้อมมาให้ความรู้ในงานนี้ด้วย”
“ในส่วนของ มิตซูบิชิ อีเล็คทริคฯ ณ วันนี้ แน่ชัดแล้วว่าเราโฟกัสในเรื่องของการทำอย่างไรให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความยั่งยืน และสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้น ตลอดจนพยายามสื่อสารในเรื่องนี้และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดการ Digitalizing และ Decarbonization ให้ทางภาคอุตสาหกรรมเข้าใจ ว่าเทคโนโลยีที่เรานำเสนอนี้จะเอาไปปรับใช้จริงและช่วยลดปริมาณคาร์บอน ตลอดจนช่วยปรับให้กระบวนการผลิตเป็นดิจิทัลได้อย่างไร ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรทุกภาคส่วนนั่นเอง”
คุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์
ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก
“ที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำว่า CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป คือเมื่อไรก็ตามที่มีการส่งสินค้าไปยังยุโรปจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งตั้งเป้าว่า ในปี 2023 นี้จะมีทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ แต่ในเฟสแรกยังไม่มี พลาสติก โดยคาดว่า พลาสติก จะประกาศออกมาในเฟส 2 ต่อไป โดยจะมีการใช้มาตรการ CBAM ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2023 และภายใน 2025 ก็จะมีการใช้แบบเต็มสเกล”
“ดังนั้น ไทยจึงต้องมาเตรียมตัวให้พร้อมรับการปฏิบัติตามมาตรการนี้ และ สถาบันพลาสติก ก็ตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมา คือ การจัดการทั้งหลาย เพื่อเข้ามาเสริมว่า ทางผู้ประกอบการทำอะไรได้บ้าง สุดท้าย ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการในเมืองไทย
และนอกเหนือจากการสร้างฐานข้อมูลแล้ว เรายังช่วยผู้ประกอบการในการใช้ IoT เพื่อลิงค์เครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการนำ Induction Heater เข้ามา เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างเหมาะมากขึ้น เพราะนวัตกรรมนี้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งในส่วนของ Servo Motor ก็จะไปเพิ่มพลังการผลิต ลดการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า”
“ล่าสุด สถาบันพลาสติก ได้เพิ่มหน้าที่ตัวเอง เป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้ตรวจสอบ โดยการเข้าไปศึกษาในส่วนของ อบก. และปรับการปฏิบัติให้เข้ากับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ของ อบก. และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการมาทำกิจกรรมร่วมกันในวันนี้ว่าเราจะส่งผู้เชี่ยวชาญของเราเข้าไปตรวจ ประเมิน การใช้ และการปล่อยคาร์บอนของทางบริษัทเอกชน ด้วย”
คุณไกรศรี ภัณฑ์กิจนิรันดร
ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส แผนกลยุทธ์และความยั่งยืน สังกัด กลยุทธ์ แผน และพัฒนาธุรกิจองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจาก Plastket.com
“PLASTKET.COM เป็นพลาสติกอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม (Plastic E-Commerce Platform) รายแรกในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงในการซื้อ-ขายเม็ดพลาสติก สารเติมแต่ง และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปให้ง่ายขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ผู้ขายนำเม็ดพลาสติกจากหลากหลายแบรนด์มาจัดจำหน่าย เพื่อสร้างตัวเลือกที่หลากหลายทั้งด้านคุณภาพและราคาให้กับผู้ซื้อ ดำเนินงานโดย บริษัท ไอพอลิเมอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)”
“และในโอกาสนี้ PLASTKET.COM ได้ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ออกบูธแสดงนวัตกรรม Plastic E-Commerce Platform เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประหยัดพลังงานและช่วยลดต้นทุนในอุตสาหกรรมพลาสติก โดยนำเสนอโซลูชั่น ระบบโรงงานอัตโนมัติ e-Factory ของบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บน platform PLASTKET.COM”
พร้อมทั้งแนะนำให้ผู้ประกอบการพลาสติกหันมาใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกรักษ์โลกที่สามารถคำนวณคาร์บอนเครดิตได้ ทั้งประเภท Post-Industrial Recycled Resin (PIR) และ Post-Consumer Recycled Resin (PCR) ที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ด้วยคุณภาพมาตรและฐานระดับโลก นอกจากนั้นแล้ว PLASTKET.COM ยังนำเสนอสินค้าลดคาร์บอนอื่นๆ อาทิ ระบบหลังคาโซลาร์ (solar rooftop) และวัสดุเคลือบพื้นผิวภายนอกอาคารเพื่อสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ (ceramic coating)”
คุณเอกพล พงศ์สถาพร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทานตะวันอุตสาหกรรม
“บมจ. ทานตะวันอุตสาหกรรม มีความยินดีอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และต้องขอขอบคุณทาง มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ที่เชิญชวนเราให้มาร่วมโครงการดีๆ นี้ ที่ผานมา ทานตะวันอุตสาหกรรม มีความโชคดี ที่เราค่อนข้างจะตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเทรนด์การสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจนี้มานานพอสมควร และเราถือว่านี่คือ DNA ของธุรกิจของเราด้วย”
“โดยโอกาสที่จะทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ โดยให้ความสำคัญกับ S หมายถึง Social และ Stakeholders เพราะทานตะวันอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่เกิดมาเพื่อมนุษย์ เพื่อสังคม และ Stakeholders เพราะฉะนั้น เราคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเราได้ใช้สินค้าและบริการที่ไม่ได้แค่ดีต่อตัวผู้ใช้เท่านั้น แต่ดีต่อสังคม ดีต่อทุกคน ทุกฝ่ายด้วย”
“และเมื่อคิดสินค้าใหม่ เราจะให้ความสำคัญกับ Keywords หลายคำ เริ่มจากคำว่า User Friendly ซึ่งนี่เป็นคำที่ทุกคนเข้าใจตรงกันอยู่แล้วว่า หมายถึงการใช้งานได้ง่าย ต่อมา คือ Eco Friendly ซึ่งเมื่อสองคำนี้มาด้วยกัน ย่อมหมายถึง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและมีความยั่งยืน”
“ปัจจัยต่อมา ที่เราคำนึงถึง คือ Environment หรือ สิ่งแวดล้อม โดยเราเน้นทั้ง 3 ระดับ ตัวแรก คือ ในระดับของผลิตภัณฑ์ การดีไซน์ เพื่อให้เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในระดับของกระบวนการผลิต ที่เป็นซัพพลายเชนทั้งหมด ที่จะทำอย่างไรให้ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
“สุดท้าย คือ Business Model หรือวิธีในการทำธุรกิจต่างๆ เพราะในอนาคตเราคงไม่ได้มองแค่ว่าขายสินค้าแล้วจบกันไป แต่เราต้องมองเลยไปถึง Reverse Logistic หรือการดูแลไปถึงการจัดการกับขยะ หรือ Waste Management ว่าจะต้องทำอย่างไร นี่ก็ถือเป็นภาระหนักของเรา”
และแน่อนว่า เมื่อรวม Social และ Environment แล้ว ก็จะมาตอบโจทย์ ตัว E สุดท้าย นั่นคือ Economic เพราะเมื่อเราทำระบบ Social และ Environment ให้ดี แน่นอนว่า ระบบ Economic ในแง่ของความสามารถในการทำธุรกิจของเราก็ย่อมจะดีขึ้น ขณะเดียวกัน องค์ประกอบเหล่านี้ก็จะส่งให้เราสามารถทำผลิตภัณฑ์ หรือโครงการต่างที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ภายใต้ธรรมาภิบาล หรือทิศทาง Governance ที่เราต้องไป”
“เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้ นอกจากจะดีต่อทุกฝ่ายแล้ว สำหรับทานตะวันอุตสาหกรรมเองเราก็ไม่ได้อยากมีส่วนร่วมแค่โครงการ แต่เราก็อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น หรือในอนาคตถ้าเป็นไปได้เราก็อยากเป็นผู้บุกเบิก และมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในด้านของเทรนด์ความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมพลาสติกนี้ต่อไป”
คุณพีรพงศ์ ศาศวัตวิบูลย์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพรซ์ อินเตอร์แพค (1999) จำกัด
“ปณิธานของโรงงาน ไพรซ์ อินเตอร์แพค (1999) เราได้ดำเนินการใน 3 pillars เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน เริ่มจากการเลือก Raw material ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นวัสดุที่นำมารีไซเคิลได้ และขั้นต่อไปเราจะพัฒนาให้ผลลิตภัณฑ์นั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้แบบง่ายๆ ขึ้น”
“ต่อมา ก็เป็นเรื่องของขั้นตอนที่ลดการใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด อย่างการใช้พลังงานต่างๆ ในปัจจุบัน เราก็พยายามจะหาเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับอุตสาหกรรมพลาสติก โดยการลดการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป และยังลดขั้นตอนต่างๆ ให้น้อยลง และมีการติดตั้งโซลาเซลล์เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญคือการที่เราต้องลดเรื่องของความสูญเสีย เพื่อตัดปัญหาเรื่องการใช้พลังงานสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ”
“อย่างไรก็ดี เมื่อผลิตออกมาแล้ว สิ่งสำคัญ คือ เราต้องสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการนำสินค้าไปใช้ ไปจนถึงการคัดแยกอย่างถูกต้อง เพราะสินค้าพลาสติกที่ผลิตมา ทุกอย่างไม่ใช่ขยะ ถ้าเราไม่ไปทำให้เป็นขยะ เพราะฉะนั้น แค่เราคัดแยกออกกมาก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญก่อนจะเกิดกระบวนการนี้ คือ การให้ความรู้ หรือ Knowledge ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปลูกฝังในวัยเด็ก และต้องเริ่มตั้งแต่ในครัวเรือน”
“เพราะโดยกระบวนการผลิตพลาสติก ไม่ได้ก่อให้เกิดมลภาวะมาก ถ้าเพียงแต่เราทำความเข้าใจในเรื่องของการใช้ การคัดแยก และนำกลับเข้าสู่กระบวนการ ถ้ารีไซเคิลไม่ได้ เราก็สามารถทำเป็น RDF หรือ เชื้อเพลิงขยะ ได้ และการทรานสฟอร์มที่จำเป็น ต้องมี 2 ส่วน คือ Process Transform ซึ่งโชคดีที่เราได้ร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้กับพนักงานของเรา ที่นำสู่การทรานสฟอร์มที่ 2 คือ People Transform คือ การเปลี่ยนของประชาชน ผู้คน ที่หันมาใส่ใจในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั่นเอง”
ดร.ปวีณา พาณิชยพิเชฐ
ผู้จัดการ สำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. หรือ TGO
“ด้วยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กัน”
“อบก. เป็นหน่วยงาน ที่มีภารกิจและวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ สร้างองค์ความรู้และเครือข่ายในกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการจัดการของเสียจากการผลิต”
“สิ่งที่ อบก. ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน มาร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ สำหรับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง เราอยากให้ผู้ผลิตทุกท่านทราบว่าจุดไหน คือ จุดที่กำเนิดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ หรือ Hot spot โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก มีอัตราการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่แล้ว”
“นอกจากนั้น ต้องขอชื่นชม บริษัท Technology Provider ผู้นำเสนอเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง มิตซูบิชิ และอีกหลายบริษัทที่พยายามปรับเอาเทคโนโลยีการผลิตสีเขียวมาใช้ ซึ่งถ้าเราทำได้ ก็ย่อมทำให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแน่นอน เพราะท้ายที่สุด หน่วยงานภาครัฐ ก็มีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และที่ผ่านมาเราพยายามนำเป้าหมายตรงนี้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักและนำมาตรการไปปฏิบัติจริง โดย อบก. จะเป็นที่ปรึกษาและช่วยขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้เป็นจริงขึ้นมา ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่วางไว้ในระดับโลกได้ในที่สุด”
ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์
ผู้อำนวยการศูนย์อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค มหาวิทยาลัยบูรพา
“ที่ อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค เรามีเทคโนโลยีที่นำเสนอให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งนำเสนอให้กับทางฝั่งดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งก็คือโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของสถาบันพลาสติก หรือเป็นเรื่องของ Mass Production ที่อยู่ในกลุ่มของสมาคม Thai Subcon หรือทางฝั่ง ซัพพลาย ก็จะเป็นฝั่งของ Trader หรือ System Integrator อย่างสมาคม TARA”
“นอกจากนั้น อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค ยังมีหน้าที่ในการนำเสนอเทคโนโลยี ที่เป็นการปรับปรุงกระบวนการ การผลิต หรือเพิ่ม Productivity ลดของเสีย ทำให้เกิดการทำงานที่ดีมากขึ้น ซึ่งมีส่วนในการช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้พลังงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส เชื้อเพลิง หรือน้ำมันต่างๆ”
“โดยตรงนี้ถ้ามีการเพิ่ม Productivity ของกระบวนการผลิตแล้ว จะนำมาซึ่งการลดการใช้พลังงาน และเมื่อลดได้แล้ว ทาง อบก. ก็จะมีกระบวนการคำนวณแบบง่ายๆ ด้วย Emission Factor ที่สามารถแปลงค่าการลดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า เชื้อเพลิงต่างๆ ไปในเรื่องของการลดคาร์บอน ที่ถูกปลดปล่อยออกไปได้”
“ส่วนต่อมา ภารกิจของ อีอีซีออโตเมชั่น พาร์ค คือการ Matching ทางฝั่งดีมานด์และซัพพลาย เพื่อทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยี รวมถึงเรื่องของการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่จะทำเกี่ยวกับกระบวนการปรับปรุงระบบการผลิตให้ดีขึ้น ซึ่งเราได้ความร่วมมือจากทั้ง สมาคม TARA และ สมาคม Thai subcon ในเรื่องของการพัฒนา System Analyst ที่เข้าไปทำรายงานให้กับโรงงาน และเกี่ยวเนื่องกับการดึงเอางบประมาณภาครัฐมาสนับสนุนโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณในการใช้ผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณที่เกี่ยวข้องที่จะเป็น Incentive ให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่จะมีการปรับปรุงต่อไป”
คุณเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์
นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน)
“ที่ผ่านมา เรามีบทบาทในการแนะนำสมาชิกของเรา ถึงสิทธิพิเศษที่เขาจะได้ ถ้ามีส่วนในการช่วยลดคาร์บอน หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถนำไปลดภาษีนิติบุคคล ลดค่าไฟฟ้า ซึ่งมีส่วนในการจูงใจให้สมาชิกของสมาคมไทยซับคอน ที่มาจากอุตสาหกรรมหลากหลายได้ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมลดคาร์บอน ในทุกทาง”
“ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการลดคาร์บอน และมีความร่วมมือกับทั้ง สมาคม TARA, อีอีซี ออโตเมชั่นพาร์ค, สถาบัน MARA สนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกไปใช้ระบบออโตเมชัน ติดตั้ง โซลาร์รูฟ โดยแนะนำสมาชิกว่า สิทธิประโยชน์ที่ได้จากการติดตั้ง โซลาร์รูฟ นั้น ได้อะไรบ้าง”
“และเรายังสนับสนุนให้สมาชิกเปลี่ยนในเรื่องการขนส่งไปใช้ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น ยกระดับการผลิตไปสู่ระบบ ERP หรือ ระบบการวางแผนทรัพยากรในองค์กร ที่ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ในแง่ของการเป็น Paper less ทั้งใน งานในส่วนจัดซื้อ, งานในส่วนบัญชี, งานในส่วนการบริหาร ได้ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นกลไกหรือเครื่องมือ แต่ผลลัพธ์ในการลดคาร์บอนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือกัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ปฏิบัติ ภาคเอกชนผู้นำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวอย่างมิตซูบิชิ ไปจนถึงหน่วยงานที่เป็นสมาคมต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการเชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน”
ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์
นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA)
“สมาคม TARA เป็นผู้ประกอบการที่บูรณาการระบบหุ่นยนต์และระบบออโตเมชันของไทย ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 100 ราย ในตอนนี้ รวมถึงซัพพลายเชนด้วย ในวันนี้ หัวข้อที่มาพูดคุยกันเน้นไปที่การ Decarbonization ที่เรามองว่าเกี่ยวข้องกับการสร้างกระบวนการ Sustainability Manufacturing ที่มีหลายขั้นตอนกว่าจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการผลิต เราเห็นง่ายๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ภาคการผลิตอาจต้องสะดุดหรือหยุดชะงักไปเพราะแรงงานคนทำงานไม่ได้เหมือนเดิม ก็ต้องอาศัยพึ่งพาระบบออโตเมชัน และหุ่นยนต์ ซึ่งในตอนนั้น ทางสมาคมได้ให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการหลายแห่งที่จะปรับการผลิตไปสู่ Digital Manufacturing for Sustainability and Decarbonization ไปด้วย”
“โดยขั้นตอนที่จะเปลี่ยนผ่านนี้ อย่างในองค์กรที่เป็น SMEs ทุกโรงงานมีเครื่องจักร และเครื่องจักร ก็ต้องใช้ระบบ PLC หนึ่งในนั้นก็เป็นของทางมิตซูบิชิ ใน PLC ก็จะมีฟังก์ชันที่จะบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ก็ใช้ข้อมูลนี้ส่งเข้าระบบดาต้าเบส หลังจากนั้น ก็จะใช้เทคโนโลยีอย่าง SCADA ของมิตซูบิชิก็ได้ ในการดึงข้อมูลทั้งหมดว่ามีการใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานไปเท่าไร ระบบทั้งหมดนี้ เราใช้เงินลงทุนไม่เกิน 3 หมื่นบาท ก็สามารถเปลี่ยนระบบให้เป็นดิจิทัล และยังสามารถคำนวณอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่นำไปคำนวณการปล่อยคาร์บอนได้ โดยสิ่งที่ต้องมีอยู่แล้ว คือ Server และ ERP นี่เป็นระดับที่ SMEs สามารถเข้าถึงได้”
“ดังนั้น ในมุมของ สมาคม TARA กับบทบาทในการช่วย Decarbonization ของอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง คือ การแนะนำให้ภาคการผลิตปรับตัว และใช้ Digital Manufacturing ซึ่งใช้ในทั้ง Manufacturing System ไปถึง IT System และถ้าอยากเป็น Industry 4.0 ให้ครบ ก็ต้องเอาข้อมูลขึ้นคลาวด์ที่ทุกคนในองค์กรจะเรียกดูข้อมูลได้ นี่เท่ากับเป็นการเชื่อมต่อกับดาต้าทั้งหมด”
“ดังนั้น ในวันนี้ Digital Manufacturing for Sustainability and Decarbonization สามารถเกิดได้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้เป้าหมายในการเปลี่ยนโฉมโรงงานให้เป็น 4.0 และยั่งยืนเกิดได้แน่นอน”