Print Page

Font Size:

ระบบ PLC คืออะไร? โรงงานยุคใหม่อยากใช้ Automation ต้องรู้!

วันที่ : 17 February 2022 | หมวดหมู่ : Automation

ระบบ PLC ในโรงงาน ตัวช่วยควบคุมคุณภาพเกินร้อยในยุค 4.0

ในยุคที่อะไร ๆ ก็ต้อง 4.0 ส่งผลให้โครงสร้างการผลิตเริ่มเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เพราะมีการอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตมากขึ้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ตลาดในยุคนี้ แต่ความเร็วในการผลิตหรือคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจไม่ทำให้คุณสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ การที่ทั้งสองสิ่งนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันได้นั้น ผู้ประกอบการควรทำความรู้จักกับระบบ PLC ในโรงงาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยในการประมวลผลและสั่งงานที่ซับซ้อน เปลี่ยนให้การผลิตในธุรกิจของคุณ ก้าวไปสู่การใช้ประโยชน์จาก Factory Automation ได้เต็มที่ และสร้างผลตอบแทนได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ระบบ PLC คืออะไร เพิ่มขีดจำกัดการผลิตอย่างไร - Mitsubishi FA

ระบบ PLC คืออะไร ทำไมถึงต้องทำความเข้าใจ?

ระบบ PLC หรือ Programmable Logic Control คืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักร จะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นคอมพิวเตอร์สำหรับงานอุตสาหกรรมก็ได้ เพราะมีหลักการทำงานที่คล้ายคลึงกัน แต่ PLC นั้นจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการทำงานท่ามกลางสภาพที่รุนแรงของโรงงานอุตสาหกรรม เช่น บางแห่งอาจมีอุณหภูมิสูง มีแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องจักร มีฝุ่นละอองมาก หรือต้องเปิดใช้งานต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะฉะนั้น วัสดุที่ใช้ รวมไปถึงระบบการตั้งค่าต่าง ๆ จึงต้องรองรับมากกว่าการใช้งานธรรมดา

การใช้ระบบ PLC ในโรงงานอุตสาหกรรม

ระบบ PLC ก็เหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนโรงงานจากระบบ Manual ให้กลายเป็นระบบ Automation เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นทั้งปริมาณ ความเร็ว และคุณภาพ ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในโรงงานอย่างหลากหลาย โดยสามารถเลือกรุ่นและสเปคให้เหมาะสมได้ เช่น ใช้ PLC ควบคุมเครื่องจักร ควบคุมสายพานและมอเตอร์ในไลน์ผลิต ซึ่งรายละเอียดของระบบก็จะมีความแตกต่างกันไป

5 เหตุผล ทำไมหลายโรงงานถึงเปลี่ยนมาใช้ PLC

เดิมที บางโรงงานอาจใช้ Relay เพื่อควบคุมวงจรอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่เนื่องจาก Relay นั้นต้องเดินสายไฟฟ้า เมื่อสายไฟมีความเสียหายจึงเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสายใหม่ ระบบ PLC ในโรงงานจึงเข้ามาแทนที่ และตอบโจทย์กระบวนการผลิตในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถช่วยให้การทำงานมีความราบรื่นขึ้นกับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้

  • เมื่อเกิดความขัดข้องสามารถเปลี่ยนโปรแกรมแล้วทำงานต่อได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนสายไฟหรือเดินวงจรใหม่ เพียงใช้โปรแกรมที่สำรองไว้ช่วยลดเวลาการซ่อมและทำงานได้เต็มขีดความสามารถมากกว่า
  • PLC ใช้อุปกรณ์ Solid State จึงให้ผลลัพธ์การประมวลผลแบบ Logic ที่น่าเชื่อถือขึ้นและกินไฟน้อยลง
  • การเปลี่ยนมาใช้ระบบ PLC ในโรงงานช่วยประหยัดต้นทุน ในการจ้างพนักงานไลน์ผลิตแบบระยะยาว สามารถโยกพนักงานไปพัฒนาความสามารถในด้านอื่นได้
  • ช่วยให้การตั้งค่าต่าง ๆ ง่ายต่อการทำความเข้าใจของพนักงานมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตัว PLC ผ่านหน้าจอแสดงผลก่อนได้ จึงลดความซับซ้อนที่ตัวเครื่องจักรและแผงวงจร

กระบวนการทำงานของ PLC

ระบบ PLC คือระบบที่มีกระบวนการทำงานคล้ายกับคอมพิวเตอร์ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  1. 1.หน่วยรับ - ส่งข้อมูล (Input - Output) สำหรับ PLC ใช้รับและส่งข้อมูลจาก/ไปสู่อุปกรณ์อื่น
  2. 2.ส่วนประมวลผลกลาง (CPU)
  3. 3.หน่วยความจำชนิด ROM ใช้เก็บตัวโปรแกรมปฏิบัติงานของ PLC และ RAM สำหรับเก็บโปรแกรมและข้อมูลของผู้ใช้งาน
  4. 4.อุปกรณ์จ่ายไฟและแปลงกระแสไฟฟ้า
  5. 5.Communication Interface หรืออุปกรณ์สำหรับรับและส่งข้อมูลจากเครือข่ายไปยัง PLC

โดยอุปกรณ์ต่าง ๆ จะมีกระบวนการทำงานหลัก ๆ 3 ขั้นตอน ได้แก่

  1. 1.Input หรือการรับข้อมูลเข้า โดยผู้ปฏิบัติงานป้อนข้อมูลผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามายังหน่วยประมวลผล
  2. 2.Process ขั้นตอนการประมวลผล
  3. 3.Output เมื่อประมวลผลแล้วระบบจึงส่งข้อมูลออกสู่อุปกรณ์ในขั้นตอนต่อไป เพื่อควบคุมการทำงานของระบบและเครื่องจักร

โดยคุณสามารถเชื่อมต่อระบบ PLC กับอุปกรณ์แสดงผล เช่น หน้าจอ HMI รุ่นต่าง ๆ ได้ เพื่อควบคุมสั่งการและแสดงผลข้อมูลภายใน PLC

การใช้งานระบบ PLC ในโรงงานอุตสาหกรรม - Mitsubishi FA

เริ่มต้นใช้งานระบบ PLC ในโรงงานต้องทำอย่างไร?

เมื่อคุณได้ทราบถึงประโยชน์ในการใช้งาน PLC เพื่อเปลี่ยนกระบวนการทำงานสู่ระบบ Automation รวมถึงทำความเข้าใจการทำงานคร่าว ๆ ของระบบ PLC ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว หากต้องการเปลี่ยนมาใช้งานระบบดังกล่าว ต้องทำอย่างไร? เรามีคำแนะนำมาฝาก ดังนี้

1. เลือกสเปคของระบบ PLC

อันดับแรกควรสำรวจความต้องการในการใช้งานว่าต้องการระบบ PLC ไปใช้งานในโรงงานประเภทไหน มีเงื่อนไขอะไรบ้าง แล้วปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของแบรนด์เพื่อเลือกสเปคที่เหมาะสม

2. การติดตั้งระบบ PLC ในโรงงาน

ควรเตรียมพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการติดตั้ง ดังนี้

  • ขนาดพื้นที่เพียงพอต่อตัวเครื่องและตู้ควบคุม อย่าลืมเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับการเข้าไปซ่อมบำรุงและการขยับขยายเพิ่มเครื่องในอนาคตด้วย
  • พื้นที่อยู่ไม่ห่างจากแหล่งจ่ายไฟ หรือเดินสายไฟสะดวก
  • ไม่ควรติดตั้ง PLC ในบริเวณดังต่อไปนี้
    • บริเวณที่แสงแดดส่องเข้ามาโดยตรง
    • บริเวณที่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป หรืออยู่ใกล้อุปกรณ์ที่มีความร้อนสูง เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า หากบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงกว่า 55 - 60 องศาเซลเซียสควรติดตั้งพัดลมระบายความร้อน
    • บริเวณที่ใกล้กับไฟฟ้าแรงสูงหรือมีแรงสั่นสะเทือนมาก
    • บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น มีความชื้นสูง มีไอเกลือ ฝุ่น ก๊าซที่มีคุณสมบัติกัดกร่อนหรือก๊าซไวไฟ

3. บริการหลังการขาย (After Sales Service)

หลังจากติดตั้งแล้ว ทางผู้จำหน่ายจะมีบริการหลังการขายคอยช่วยเหลือระหว่างการใช้งาน เช่น การอบรมวิธีใช้ระบบ PLC ในโรงงานของผู้ประกอบการแต่ละท่านซึ่งอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป การให้คำแนะนำ ตรวจเช็กสภาพตามระยะเวลาที่กำหนด การซ่อมบำรุง ตลอดจนการแนะนำอุปกรณ์เสริมและอะไหล่ เพื่อมอบความสบายใจสูงสุดในการใช้ระบบ Automation ซึ่งอาจยังใหม่และไม่คุ้นเคยสำหรับบางคน

การเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาเป็นแบบ Automation เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ หากอยากปั้นธุรกิจให้เติบโตทันยุคสมัยและมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขัน การใช้ระบบ PLC ในโรงงานจะช่วยให้การควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายดายจากส่วนกลาง นอกจากจะลดความยุ่งยากและระยะเวลาในการทำงานลงแล้ว ยังให้ผลในเรื่องความถูกต้องแม่นยำและความปลอดภัยต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเองด้วย

หากท่านใดสนใจปรับปรุงหรือต้องการเปลี่ยนแปลงโรงงานเพื่อรับมือกับยุคแห่งนวัตกรรม Mitsubishi FA เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ระบบ PLC และระบบ Automation ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานเดียวกับโรงงานในประเทศญี่ปุ่น ทีมงานของเรามีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี พร้อมให้คำแนะนำและการบริการที่ดีที่สุดแก่คุณ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 092 8600 หรือ Line: @mitsubishifa.th

แบ่งปันเพจนี้
Subscribe
Receive the latest headlines, right to your inbox